สถิติผู้เข้าชม
 ขณะนี้มีผู้เข้าใช้ 3
 ผู้เข้าชมในวันนี้ 1,177
 ผู้เข้าชมทั้งหมด 5,176,502
กรุณาฝาก Email ของท่าน
  เพื่อรับข่าวสาร ที่น่าสนใจ
29 มีนาคม 2567
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.
     
10  11  12  13  14  15  16 
17  18  19  20  21  22  23 
24  25  26  27  28  29  30 
31             
 
แนะทุกบ้านกินอย่างไรไม่ให้ไมเกรนถามหา
[6 เมษายน 2555 16:24 น.]จำนวนผู้เข้าชม 6967 คน
 แนะทุกบ้านกินอย่างไรไม่ให้ "ไมเกรน" ถามหา

 

   เชื่อว่า หลายๆท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ เคยมีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือไม่ก็รู้จักกับอาการที่เรียกว่า "ไมเกรน" กันเป็นอย่างดี เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวคนทำงาน ซึ่งอาการเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้จากสิ่งกระตุ้นชนิดต่าง ๆ จากทั้งภายในและภายนอกร่างกาย การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเป็นการรักษาวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้เอง โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่มีผลแทรกซ้อน
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์อายุรแพทย์สมอง และระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความรู้ว่า สิ่งกระตุ้นในกลุ่มของอาหาร และเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เป็นสิ่งกระตุ้นที่พบได้บ่อย การสังเกตประเภทของอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และมีผลทำให้อาการปวดศีรษะลดน้อยลง
            "อาหาร และเครื่องดื่มส่วนมาก จะออกฤทธิ์กระตุ้นอาการปวดศีรษะที่บริเวณเส้นเลือดของเยื่อหุ้มสมองส่วนนอก หรือที่เส้นประสาทคู่ที่ 5 ส่วนปลาย อาจมีสารในอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดที่ซึมผ่านเข้าไปออกฤทธิ์กระตุ้นอาการปวดศีรษะในสมองได้โดยตรง"
           
นอกจากนั้น อายุรแพทย์สมอง และระบบประสาท บอกด้วยว่า การรับประทานอาหารให้ตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการอดอาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ จากการศึกษาพบว่าการอดอาหารเป็นตัวกระตุ้นไมเกรนได้ 40-57 เปอร์เซ็นต์
       
       สำหรับบ้านใดที่ไม่อยากให้ไมเกรนแผลงฤทธิ์ การทราบถึงอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะมีความสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้หลีกเลี่ยงสิ่งเหนี่ยวนำที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ อาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะในผู้ป่วยไมเกรน เช่น แอลกอฮอล์ (29-35 เปอร์เซ็นต์) คาเฟอีน (14 เปอร์เซ็นต์) ชีส (9-18 เปอร์เซ็นต์) ผงชูรส (12 เปอร์เซ็นต์) เป็นต้น

เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ

       
       
1. สารไทรามีน
       
       เป็นองค์ประกอบธรรมชาติในอาหาร เช่น เนยแข็งที่บ่ม ปลารมควัน เนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธียืดอายุ ของหมักดอง อาหารที่มีส่วนประกอบของยีสต์ เบียร์ เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีความไวต่อสารไทรามีน เมื่อรับประทานอาหารเหล่านี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง

2. สารแอสปาแตม
       
       เป็นสารให้ความหวานซึ่งหวานกว่าน้ำตาลปกติ 180-200 เท่า ถึงแม้จะไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการว่าเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน แต่ก็พบว่าในผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดศีรษะหลังรับประทานสารตัวนี้
       
       
3. ผงชูรส
       
       เป็นสารปรุงแต่งรสชาติอาหารที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง มักถูกใช้สำหรับปรุงรสชาติอาหารให้อร่อย ใช้ในอาหารกระป๋อง และอาหารพร้อมรับประทาน กลไกการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะอาจมาจากการกระตุ้นให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด หรือไปกระตุ้นให้เซลล์ของผนังหลอดเลือดหลั่งสารไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว นำไปสู่อาการปวดศีรษะในที่สุด
       
       
4. ไนเตรต และไนไตรท์
       
       เป็นสารกันบูดที่ใช้ในการถนอมอาหาร อาหารหมักดอง หรืออาหารรมควัน เช่น ไส้กรอก เนื้อรมควัน หรือปลารมควัน หลังจากรับประทานอาหารที่มีสารดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะในทันที หรืออาจจะใช้เวลานานกว่านั้น เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงก็ได้ กลไกการกระตุ้นให้ปวดศีรษะอาจเกิดจากสารดังกล่าวไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารไนตริกออกไซด์หรือสารที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวชนิดอื่นๆ ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ผู้ป่วยที่มีความไวต่อสารนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไนไตรท์ โซเดียมไนเตรต โพแทสเซียม ไนไตรท์ และโพแทสเซียม ไนเตรต

 5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
       
       เป็นอีกหนึ่งตัวที่พบว่า เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้บ่อย โดยเฉพาะในไวน์แดง ทำให้มีอาการปวดศีรษะภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากดื่ม หรือเกิดตามมาในช่วงท้ายก็ได้ สาเหตุเกิดจากไวน์มีส่วนประกอบของไทรามีน ซัลไฟท์ ฮีสตามีน และฟลาโวนอย ซึ่งสารเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
       
       
"อาการปวดศีรษะหลังรับประทานแอลกอฮอลล์ สามารถเกิดได้บ่อย ซึ่งอาจรวมถึงอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ใจสั่น หงุดหงิด สมาธิแย่ลง อาการปวดศีรษะดังกล่าวมักจะเกิดในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากการรับประทานแอลกอฮอล์เมื่อร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงและสามารถมีอาการดังกล่าวยาวนานถึง 24 ชั่วโมงจนกว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะหมดไป" อายุรแพทย์สมองและระบบประสาทเผย
       
       
6. คาเฟอีน
       
       เป็นสารที่พบได้ในกาแฟ ชา โซดา และช็อกโกแลต ซึ่งรวมถึงยาแก้ปวดศีรษะที่มีส่วนผสมของสารนี้ คาเฟอีนจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางขึ้นกับขนาดที่รับประทานเข้าไป โดยปกติจะพบในน้ำอัดลม 115 มิลลิกรัม คาเฟอีนในขนาด 50-300 มิลลิกรัมมีผลทำให้ร่างกายตื่นตัว หากมากว่า 300 มิลลิกรัมจะทำให้เกิดอาการวิตกกังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หงุดหงิด คาเฟอีนสามารถกระตุ้นให้ปวดศีรษะและยังสามารถช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ ขึ้นอยู่กับขนาดและความถี่ของการใช้ หากใครที่มีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ แนะนำให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม อาหาร หรือยาที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน


       
       
ท้ายนี้ อายุรแพทย์สมอง และระบบประสาท ให้คำแนะนำทุก ๆ บ้านว่า การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากอาการปวดศีรษะ สามารถทำได้ไม่ยาก อย่างแรกควรสังเกต และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และตรงตามเวลาทุกวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น หรือมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที 
       
       เพียงเท่านี้ก็สามารถบอกลาไมเกรนตัวร้ายกันได้แล้วครับ
       
       ///////////////////
       
       
ข้อมูลประกอบข่าว
       
       
"ไมเกรน" เป็นโรคที่เกิดจากความไวของสมองมีมากกว่าปกติ เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ หลังจากสมองถูกกระตุ้นแล้ว จะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้าๆ (ทำเกิดอาการการเตือนขึ้นมา) กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลงไป และยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด มีผลทำให้หลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัวและเกิดการอักเสบขึ้น เป็นผลทำให้มีอาการปวดศีรษะในที่สุด

       สำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน และไมเกรนที่มีอาการเตือน ซึ่งอาการเตือนที่พบบ่อย ๆ นั้น ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ซึ่งอาการผิดปกติของการมองเห็นจะเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ อาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการชาที่มือ-แขน หรือชารอบปาก ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราวหรือนึกชื่อไม่ออก หรือมีอาการอ่อนแรงของแขน-ขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น...



15 ข้อเตือนใจ"ไมเกรน" 


ถึงอย่างไร..เราทุกคนก็มีสิทธิ์จะเป็นเจ้าไมเกรนนี้ได้ เนื่องจากสภาวะในปัจจุบันที่เอื้อต่อโรคเครียดเหลือเกิน

ลองอ่าน 15 ข้อแนะนำต่อไปนี้ แล้วลองพิจารณาดูว่าคุณเข้าข่ายเป็นไมเกรนหรือแค่ปวดหัวธรรมดากันแน่
1. อย่าคิดว่าไมเกรนเป็นแค่อาการปวดหัวธรรมดา 

คนที่เป็นไมเกรนจะปวดหัวรุนแรง และมักปวดหัวข้างเดียว ถ้าหากไม่ไดรับการรัษาโดยทันที คุณอาจจะต้องทรมานปวดหัวต่อไปอีกถึง 4 ชั่วโมง นานถึง 3 วันติดกัน นอกจากนี้อาจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แพ้แสงในลักษณะเห็นแสงแบบดาวระยิบระยับ หรือมักได้กลิ่นแปลกๆที่ไม่เหมือนกับคนอื่น หากยังละเลยปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ไปพบแพทย์ แน่นอนว่าอาการของคุณก็จะแย่ลงเรื่อยๆ

2. อย่าเก่งด้วยการเป็นหมอรักษาตัวเอง
 

หลายคนพยายามที่จะรักษาอาการปวดหัวด้วยตัวเองซึ่งถือว่าผิดมหันต์ หากเข้าข่ายเป็นไมเกรน ยาพาราเซตามอน 2 เม็ดคงไม่พอ แต่การเพิ่มปริมาณยาให้มากขึ้น อาจะทำให้คุณติดยาในเวลาต่อมา เพราะบางคนอาจทานยาถึง 16 วันใน 1 เดือน หรือมากกว่า 180 วันใน 1 ปี ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นไมเกรนจำนวนหนึ่งยังคงมีอาการปวดหัวอยู่ เนื่องจากทานยาแก้ปวดมากเกินไปนั่นเอง

3. อย่าทานยาแก้ปวดต่างชนิดในวันเดียวกัน 

หากคุณปวดหัวแล้วไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก็อย่าทานยาแก้ปวดหัวที่ต่างชนิดกันบ่อยๆ เพราะอาจจะทำให้มีอาการแย่ลงยิ่งกว่าเดิม ไม่เพียงแค่นั้นยังทำให้แพทย์สันนิษฐานไม่ได้ หากเกิดอาการแพ้ยาขึ้น นอกจากนี้อย่าทานยาตอนท้องว่างเพราะอาจทำให้กระเพาะเกิดการระคายเคือง ทางที่ดีแล้วควรทานอาหารรองท้องก่อนเล็กน้อย แล้วค่อยทานยาเพื่อให้การดูดซึมยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

4. ไม่ควรทานยาช้าเกินไป
 

เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกปวดหัว ไม่ควรเพิกเฉย แต่ควรสังเกตอาการเริ่มแรกให้ดีเพื่อที่จะได้หายามาทานให้ทันท่วงที เพราะหากช้าเกินไป เพียงแค่เราสัมผัสผมก็อาจทำให้ปวดหัวได้ 

ถ้าถึงตอนนั้นยาตัวใดก็ไม่สามารถระงับอาการปวดได้ สัญญาณที่เตือนว่าคุณอาจจะเป็นไมเกรนคือ อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย เฉื่อยชา โมโหง่าย อยากอาหารบางอย่างเช่น ของหวานๆและออกอาการหาวแต่ไม่ได้ง่วงนอน
 
5. หากปวดมากกว่า 3 ครั้งต่อเดือน ยาแก้ปวดก็ช่วยไม่ได้แล้ว 

หากคุณมีอาการอย่างนี้บ่อยๆ การบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติบางทีก็น่าลองดู เช่น อาจจะจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำหรือขี่จักรยาน ถ้าไม่ถนัดกีฬาที่กล่าวมา ก็อาจจะเล่นกีฬาชนิดไหนก็ได้ที่คุณชอบ 

เพียงแต่ขอให้เป็นการเคลื่อนไหวเบาๆ เพียงแค่วันละ 15 นาทีก็เพียงพอ แต่ถ้าแค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ลองเปลี่ยนวิธีเป็นเดินในห้างสรรพสินค้าดูก็ได้ค่ะ แต่ก็มีบางคนที่จะต้องทานยาทุกวัน ถึงแม้ว่าจะไม่ปวดหัวก็ตาม ตัวยาเหล่านี้แตกต่างจากยาแก้ปวดทั่วไปคือ ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวโดยทำให้ระบบทางเดินโลหิตและระบบประสาททำงานเป็นปกติ
6. หาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมเราจึงปวดหัว 

สาเหตุที่ทำให้ปวดหัวมีมากมาย แต่ละคนก็ปวดหัวด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นควรหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมเราจึงปวดหัว เมื่อรู้แล้วจะได้หลีกเลี่ยงไม่ทำอย่างนั้น และพร้อมที่จะเผชิญกับมัน



7. อย่าเปลี่ยนกิจวัตรบ่อยๆ 

การนอนมากหรือน้อยกว่าปกติ การทานอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ล้วนเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ปวดหัวได้ การที่ทำกิจวัตรต่างๆไม่ต่อเนื่องกันนี้เสี่ยงต่อการปวดหัวโดยเฉพาะกับคนที่เป็น "ไมเกรนช่วงสุดสัปดาห์" ซึ่งไม่ควรเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันช่วงเสาร์ -อาทิตย์มากนัก และอย่าได้ประเมินค่าการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรต่างๆเหล่านี้ต่ำเกินไป โดยเฉพาะยิ่งถ้าหากคุณเพิ่งฟื้นไข้ คุณจะต้องทานยาที่ถูกต้องและพกยาติดตัวไว้เสมอเผื่อว่าเกิดปวดหัวขึ้นมากะทันหัน ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้ปวดหัวได้
8. อย่าคิดว่าการปวดหัวเป็นผลข้างเคียงจากการมีประจำเดือน 

การที่คุณปวดหัวทุกครั้งในช่วงที่มีประจำเดือนหรือช่วง 2 วันแรกก่อนมีประจำเดือน ถึงจะแสดงว่าคุณเป็น "ไมเกรนในช่วงมีประจำเดือน" ซึ่งเกิดจาการที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดต่ำลง ทำให้ปวดหัวนานกว่าเดิม มากกว่าเดิม และรักษายากยิ่งกว่าเดิม ในกรณีนี้ไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการดังกล่าวแต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูอาการให้แน่ใจ

9. ยาที่ใช้รักษาโรคอื่น อาจทำให้ปวดหัวได้

ยาที่แพทย์สั่งให้ทานเพื่อรักษาโรคอื่นที่เป็นอยู่ อาจมีผลข้างเคียงทำให้เราปวดหัวมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้ ในกรณีนี้ลองให้แพทย์สั่งยาตัวอื่นที่รักษาโรคนั้นๆได้และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆมาทานแทน


10. อย่าพยายามเอาชนะโรคไมเกรนสุดสัปดาห์ 

บางคนมักปวดหัวในช่วงสุดสัปดาห์เนื่องจากการพักผ่อนมากเกินไป การพักผ่อนนี้นี้ก็เป็นผลมาจากความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นตลอดวันทำงานที่ผ่านมา ทางที่ดีเราควรหลีกเลี่ยงเรื่องเครียดต่างๆ แล้วหากิจกรรมอื่นทำ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกับสุนัข

11. อย่าหยุดทานยาคุมกำเนิดเพียงเพราะว่าปวดหัว

สำหรับผู้หญิงบางคนถ้าทานยาคุม ไมเกรนจะกำเริบมากขึ้น ในกรณีนี้ให้นำยาไปให้สูตินารีแพทย์ดู เผื่อว่าแพทย์จะสั่งยาคุมตัวอื่นที่เหมาะกับเราให้เราลองทานดูได้ อย่างไรก็ตามหญิงสาวที่เป็นไมเกรน และทานยาคุมกำเนิดด้วยนั้นจะต้องไม่สูบบุหรี่เป็นอันขาด เพราะจะเสี่ยงต่อการที่เลือดแข็งตัวผิดปกติได้

12. หากคุณอยู่ในช่วงวัยทอง อย่าทำการบำบัดฮอร์โมน

การบำบัดฮอร์โมน อาจยิ่งทำให้อาการปวดหัวแย่ลง หากจำเป็นจริงๆให้แพทย์สั่งยาที่จะช่วยคงสมดุลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่เหมาะกับเราให้ดีกว่า

13. อย่าทานยาแก้ปวดในขณะที่ตั้งครรภ์อยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกที่ตั้งครรภ์ เพราะยาแก้ปวดบางตัวอาจจะทำให้แท้งลูก หรือทำให้ลูกที่อยู่ในครรภ์พิการได้ ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าทานยาได้หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน

14. อย่ารักษาแต่อาการปวดหัว อาการแทรกซ้อนอื่นๆก็ต้องรักษาด้วย 

โดยปกติไมเกรนอาจก่อนให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆด้วย เช่น วิงเวียนและคลื่นไส้อาเจียน ในกรณีนี้ให้ทานยาแก้วิงเวียน ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารซึมซับยาได้ดีขึ้นและทำให้หายปวดหัวได้ ส่วนอาการแทรกซ้อนอีกอย่างก็คือ คลื่นไส้อาเจียน ควรไปพบแพทย์เพื่อสั่งยาให้



15. ไม่ได้มีแต่ตัวยาที่ช่วยแก้ปวดหัว
 

หากคุณได้รับความทุกข์ทรมานจากการปวดหัวอยู่บ่อยๆ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะรักษาอาการปวดหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแนะนำนั่นก็คือ ไบโอฟีตแบ็ก (Biofeedback) คือกรรมวิธีการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคไมเกรนหรือโรคเครียดที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง 

นอกจากนี้ยังช่วยรักษาผู้ที่เป็นแผลเรื้อรัง ระบบขับถ่ายไม่ดี ความดันเลือดสูง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ฯลฯ เทรนนิ่งออโตเจโน (Training Augogeno) คือการควบคุมตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย เหมาะกับคนที่ชอบวิตกกังวล เป็นไมเกรน มีความเครียดสูง หรือเป็นโรคหอบหืด และการฝังเข็ม วิธีการเหล่านี้ต่างก็ได้รับการยืนยันว่าช่วยลดอาการปวดหัวได้
Tips

1. หากคุณคิดว่าตัวเองเป็นไมเกรนแน่นอนแล้ว คุณควรจะหาชาสมุนไพรเก๊กฮวยดื่ม ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้

2. หากใครกำลังใช้ยารักษาไมเกรนยี่ห้อ Avamigram, Cafergot, Degran, Poligot-CF และ Polygot ควรจะต้องรู้ว่าห้ามทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน หรือ 10 เม็ดต่อสัปดาห์
 

   หากต้องการให้ได้ผลควรนอนพักผ่อนในห้องที่มืด เงียบ และอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่หากมีอาการข้างเคียง เช่น ขาไม่มีแรง เจ็บหน้าอก แขน คอ ไหล่หรือปวดท้อง ปลายมือเท้าชา และรู้สึกเย็นซ่า รีบหยุดยาแล้วไปพบแพทย์ทันที

 

11 วิธีลดอาการปวดหัวไมเกรน(migraine)

 อาจารย์แพทย์หญิงมานูเอลา ฟอนเทบาสโซ แพทย์ประจำคลินิกปวดหัวที่โรงพยาบาลชุมชนยอร์คกล่าวว่า ผู้หญิง 16-18% และผู้ชาย 6-8% เป็นไมเกรน

       ไมเกรนเป็นโรคปวดหัวที่มีความรุนแรงปานกลางจนถึงรุนแรงมาก คนไข้มากกว่าครึ่งไม่ทุเลาด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอล อาการปวดเป็นแบบ "ตุ๊บๆ" เต้นตามจังหวะชีพจร ส่วนใหญ่จะปวดข้างเดียว     คนไข้ไมเกรนส่วนน้อยจะมีอาการนำก่อนปวดหัว หรือที่เรียกว่า "ออรา (aura)" เช่น ตามืดหรือพร่าไปชั่วคราว ตาเห็นแสงระยิบระยับ ฯลฯ คนไข้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการนำ   อาการไมเกรนในคนไข้บางคนทุเลา หรือหายไปได้... ถ้าได้นอน และมักจะกำเริบถ้าได้ยินเสียงดังๆ หรือเห็นแสงจ้าๆ     อาจารย์ฟอนเทบาสโซ และคณะมีคำแนะนำในการป้องกันโรคไมเกรนกำเริบ 8 ข้อดังต่อไปนี้

 

(1). กินอาหารให้ตรงเวลา

·            การกินอาหารไม่ตรงเวลา หรืองดอาหารเป็นบางมื้ออาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้น (trigger) สำคัญที่ทำให้อาการปวดหัวกำเริบ

2). ลดขนม-น้ำตาล

·           การกินขนม อาหารหวานมากๆ เครื่องดื่มเติมน้ำตาล หรือลูกอมอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเร็วและลงเร็ว ผลที่ตามมาคือ ระดับน้ำตาลในเลือดจะขึ้นๆ ลงๆ โดยเฉพาะ "ขาลง" นั้นมีส่วนกระตุ้นอาการปวดหัวได้ (ทำไมขึ้นๆ ลงๆ คล้ายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ทราบ)

(3). ไม่ดื่มเหล้า

·            เหล้า เบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนกระตุ้นทำให้ปวดหัวไมเกรนเพิ่มขึ้นได้ กลไกอาจเป็นจากการที่หลอดเลือดเต้นแรงขึ้น (ขยายตัว-หดตัวมากขึ้น) ในช่วงแรก และระดับน้ำตาลในเลือดมักจะต่ำลงในเวลาต่อมา (แอลกอฮอล์มีพิษต่อตับ ไปกดการสร้างน้ำตาลจากแป้งในตับ)

(4). ปรึกษาหมอ

·           ปรึกษาหมอใกล้บ้านดูว่า มีเวลาปวดหัวขึ้นมา... ควรทำอย่างไร เช่น ควรกินยาอะไรบ้าง ขนาดเท่าไร ฯลฯ ถ้าเป็นบ่อยตั้งแต่ 2 ครั้งต่อสัปดาห์... ควรปรึกษาหมอว่า จะใช้ยาป้องกันอาการปวดได้หรือไม่

(5). เตรียมยา

·            เตรียมยาแก้ปวดไว้ประจำบ้าน... อย่าปล่อยให้ยาหมด ให้เตรียมยาไว้อย่างน้อย 2-4 เม็ดเผื่อไว้เลย  ถ้าเดินทางบ่อย... ให้ทำรายการเช็คของใช้ (checklist) ที่รวมยาไว้เสมอ หรือติดป้ายเตือนที่ประตูบ้านว่า อย่าลืมนำยาไปด้วย  ถ้าขับรถบ่อยง.. ให้เตรียมยาไว้ในรถ


 

(6). อย่าเปลี่ยนเวลานอน

·             การเปลี่ยนเวลานอน เช่น วันนี้นอนหัวค่ำ พรุ่งนี้นอนดึก ฯลฯ อาจกระตุ้นไมเกรนได้

(7). นอนให้พอ

·            ภาวะอดนอนมีส่วนกระตุ้นไมเกรน เพราะฉะนั้นถ้าจำเป็นต้องเดินทางไกลข้ามคืน เช่น นั่งรถไฟ รถทัวร์ ฯลฯ ควรลงทุนเดินทางกลางวัน หรือเลือกเดินทางแบบไม่รีบร้อน เพื่อให้มีเวลานอนชดเชยมากพอ

(8). สังเกตอาการ

·            ควรสังเกตอาการนำ (aura) หรืออาการของโรคระยะแรกๆ ว่า เป็นอย่างไร เนื่องจากการรักษาโรคในระยะแรกๆ ได้ผลดีกว่าการรักษาหลังเป็นโรคนานๆ  ช่วงไหนที่เป็นโรคบ่อย... ควรหลีกเลี่ยงงานเลี้ยง งานสังสันทน์พบปะคนจำนวนมาก หรืองานที่มีเสียงดังๆ เช่น งานแสดงดนตรี ฯลฯ เพื่อลดความเครียดที่อาจทำให้โรคกำเริบได้

(9). แบ่งงาน

·            การรับงานหรือภาระต่างๆ ไว้คนเดียวมากๆ โดยเฉพาะท่านที่เป็นแม่บ้านคงจะไม่ดี ทางที่ปลอดภัยกว่าคือ แบ่งงานให้คนอื่น หรือขอความช่วยเหลือคนอื่นให้รับงานไปบ้าง เช่น ถ้าทำกับข้าว ควรฝึกให้ลูกๆ หลานๆ ช่วยล้างจาน ถูพื้น ล้างรถ ฯลฯ ถ้าทำงานที่มีเวรหรืองานล่วงเวลาก็ไม่ควรรับงานมากเกิน เนื่องจากถ้าร่างกายอ่อนเพลียมากเกินแล้ว จะปวดหัวได้ง่าย

(10). พูดคำว่า ไม่" ให้เป็น

·            คนที่พูดคำว่า "ไม่" ไม่เป็น อะไรๆ ก็ "รับ" เข้ามาหมด เช่น ใครมอบงานอะไรให้ก็รับหมด ใครขออะไรก็ให้หมด ฯลฯ แบบนี้ชีวิตอาจจะหาเวลาให้กับตัวเองไม่ได้เลย ทำให้เครียด และปวดหัวง่าย     ธรรมดาของคนใจดีนั้น... มักจะตกเป็นเหยื่อของคน "ขี้ขอ" หรือคนมักมาก ทำให้คนใจดีหรือคนที่มีน้ำใจลำบากบ่อยมากๆ   ทางที่ดีคือ ควรหัดปฏิเสธ หรือพูดคำว่า "ไม่" ให้เป็น เพื่อไม่ให้พวกคนมักมากหรือคนขี้ขอมาเบียดเบียนจนปวดหัวบ่อยเกิน

(11). แบ่งเวลา

·             ญี่ปุ่นมีภาษิตหนึ่งกล่าวว่า "เจ็บป่วยเล็กน้อย อายุยืน" หมายถึงว่า ถ้าเราเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ แล้ว หันมาศึกษาหาความรู้ ใส่ใจกับสุขภาพให้มาก แบบนี้จะพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส และอาจทำให้อายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้ การให้เวลากับคนอื่นนั้นดี ทว่า... ควรหาเวลาให้กับตัวเอง เพื่อทำอะไรที่เราชอบ หรือพักผ่อนสบายๆ สไตล์เราบ้าง เพื่อลดความเครียด ซึ่งอาจกระตุ้นไมเกรนได้เช่นกัน 



   โรคไม เกรน เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด ไม่มีวิธีการวินิจฉัยทางอื่นใด ดังนั้น การเจาะเลือด เอ็กซเรย์ หรือการตรวจคอมพิวเตอร์สมองจึงไม่มีความจำเป็นต่อการวินิจฉัยโรค
   การปวดศีรษะจากโรคไมเกรนนี้ มักรักษาไม่หายด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอลธรรมดา ยาที่ได้ผลดีคือยาแก้ปวดแอสไพริน ขนาด 2 เม็ด ในขณะปวด แต่ข้อระวังห้ามรับประทานแอสไพรินในขณะท้องว่าง และผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารห้ามรับประทานแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจเกิดเลือดออกในกระเพาะได้มากๆ และอาจทำให้ถึงแก่กรรมได้ ในผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจว่าจะมีโรคกระเพาะหรือไม่ให้รับประทานยาเคลือบกระเพาะ อาหารหรือนมร่วมด้วย ก็จะป้องกันการระคายเคืองของแอสไพรินต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ 


สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคไมเกรนมากขึ้น ได้แก่
1. ภาวะเครียด
2. การอดนอน
3. การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
4. ขณะมีระดู หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
5. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า, เบียร์, ไวน์
6. อาหารบางชนิด เช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อคโกแลต 



ที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th

http://www.familynetwork.or.th 
บ้านสุขภาพ- น.พ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
nternet


 

สาระความรู้ทั่วไปสำหรับเจ้าของน้องตูบ
- อาหารแสลง ที่ควรเลี่ยงเมื่อป่วย [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
- พืชขาดธาตุอาหารอะไร ?..ใส่ใจสักนิด... [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
- ปวดท้อง...ลางบอกโรคร้ายของคุณ [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
- การรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำและลดความเสี่ยง จากโรคมะเร็ง [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
- ซอสปรุงรส [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
- รู้จักไหม?...“ต้นผึ้ง” มีหนึ่งเดียวที่ราชบุรี [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
- เลือดจระเข้ [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
- การทำน้ำด่าง (อัลคาไลน์) สำหรับดื่มอย่างง่าย [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
- กิน ‘สมอ’ ดีเสมอ [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
- ปัสสาวะหลวงพ่อ [6 เมษายน 2555 16:24 น.]
ดูทั้งหมด

Copyright@2010 by www.nongtoob.com All right reserved.
Engine by MAKEWEBEASY