สถิติผู้เข้าชม
 ขณะนี้มีผู้เข้าใช้ 4
 ผู้เข้าชมในวันนี้ 1,361
 ผู้เข้าชมทั้งหมด 5,176,686
กรุณาฝาก Email ของท่าน
  เพื่อรับข่าวสาร ที่น่าสนใจ
29 มีนาคม 2567
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.
     
10  11  12  13  14  15  16 
17  18  19  20  21  22  23 
24  25  26  27  28  29  30 
31             
 
การให้ยาในสัตว์เลี้ยง
[23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]จำนวนผู้เข้าชม 6165 คน
 การให้ยาในสัตว์เลี้ยง



     สัตว์เลี้ยงก็เช่นเดียวกับมนุษย์คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับกฎธรรมชาติของชีวิตดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ คือ แก่ เจ็บป่วย และตายในที่สุด เมื่อสัตว์เลี้ยงของท่านเจ็บป่วยและไม่ต้องการให้ตายก่อนวัยอันสมควร ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง การรักษานั้นมีทั้งการให้ยาและการแก้ไขสภาพแวดล้อมหรือที่ตัวสัตว์เลี้ยงโดยตรง เช่น เปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนที่นอน และใส่เสื้อให้ เป็นต้น
     เมื่อสัตวแพทย์มีความเห็นว่าต้องให้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง ก็จะสั่งยาเพื่อรักษาโรคตามการวินิจฉัยนั้น ถ้าเป็นยาฉีดจะดำเนินการโดยสัตวแพทย์ แต่ถ้าเป็นยาที่ให้กินหรือยาใช้ภายนอก (เช่น ยาทาแผล ยาหยอดตา และยาหยอดหู) แล้ว สัตวแพทย์จะสั่งยาเพื่อให้เจ้าของสัตว์ไปดำเนินการให้ยาเอง ดังนั้น เจ้าของสัตว์จึงควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการให้ยา เพื่อที่จะได้ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและไม่เกิดการดื้อยา แต่บางครั้งก็มีการให้ยาโดยที่สัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้เจ็บป่วย เช่น ยาถ่ายพยาธิ และยาบำรุง เป็นต้น

รูปแบบของยาที่ให้
     ยาที่ให้สัตว์มีหลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์และความสะดวกในการให้ มีทั้งรูปยาฉีด ยากิน ยาสูดดม และยาใช้ภายนอก ยาฉีดและยาสูดดมนั้นดำเนินการโดยสัตวแพทย์ ส่วนยากินและยาใช้ภายนอกนั้นสัตวแพทย์จะบอกให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงไปดำเนินการเอง
     ยากินมีหลายแบบทั้งที่เป็นของแข็ง (ได้แก่ ยางผงในแคปซูล และยาเม็ด) และยาน้ำ (ได้แก่ ยาผงผสมน้ำ ยาแขวนลอย ไซรัปซึ่งเป็นยาเข้าน้ำเชื่อม และยาเข้าแอลกอฮอล์) แต่ที่สัตวแพทย์มักจ่ายให้กับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ยาเม็ด ยาผงผสมน้ำ และยาไซรัป
     ยาใช้ภายนอกก็มีหลายรูปแบบตามลักษณะของยาและวัตถุประสงค์ของการใช้ อาจจะเป็นยาทาผิวหนัง (เช่น โลชั่น สเปรย์ ยาผงฝุ่น ขี้ผึ้ง และครีม) ยาใช้กับตา (เช่น ยาป้ายตา และยาหยอดตา) ยาใช้กับหู (เช่น ยาหยอดหู) และยาสอดเข้าช่องคลอด ยาที่มักจะใช้กับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ครีมทาผิวหนัง ยาหยอดตา และยาหยอดหู

วิธีการให้ยาสุนัข
     1.  วิธีการป้อนยาเม็ด - ใช้มือข้างหนึ่งเปิดปากสุนัขเบา ๆ ใช้มืออีกข้างหนึ่งวางยาลงบนด้านในสุดของลิ้น ปิดปากสุนัขและใช้มือลูบคอ เมื่อสุนัขเลียปากแสดงว่ากลืนยาลงไปในกระเพาะอาหารแล้ว ให้พูดชมสุนัข
     2.  วิธีการป้อนยาน้ำ - เขย่าขวดยาก่อนแล้วดูดยาใส่ภาชนะที่ใช้ป้อนยา เช่น กระบอกฉีดยาพลาสติก จับหน้าสุนัขเงยขึ้นเล็กน้อย ค่อย ๆ ปล่อยหรือฉีดยาใส่บริเวณด้านข้างระหว่างฟันกับริมฝีปาก
     3.  วิธีให้ยาหยอดตา - ทำความสะอาดตาโดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเกลือหมาด ๆ เช็ดขี้ตาออก ค่อย ๆ บังคับสุนัขและให้ตาเปิด วางมือตรงด้านหลังใบหน้าของสุนัข เพื่อไม่ให้สุนัขมองเห็น บีบยาลงไปที่ตา และปล่อยให้ยากระจายทั่วตา
     4.  วิธีให้ยาหยอดหู - จับหัวของสุนัขให้นิ่ง ใบหูพับไปด้านหลัง และทำความสะอาดหูโดยใช้น้ำยาล้างหู หยอดยาใส่หู นำใบหูของสุนัขไปไว้ตำแหน่งเดิม จากนั้นใช้นิ้วนวดที่กกหูเพื่อให้ยากระจายได้ทั่วช่องหู

วิธีการป้อนยาเม็ดให้แมว
     ข้อควรระวังในการให้ยาแมวคือ การใช้เท้าหน้าข่วน เพราะเล็บแมวคมมาก จึงต้องมีคนช่วยจับขาหน้าไว้ด้วยเมื่อให้ยาแมว การให้ยาหยอดตา และยาหยอดหูใช้วิธีเดียวกับที่ให้สุนัข ส่วนการป้อนยาน้ำใช้วิธีคล้ายกับการป้อนยาน้ำให้สุนัข โดยค่อย ๆ ปล่อยหรือฉีดยาใส่เข้าไประหว่างฟันด้านหลังฟันเขี้ยว แทนที่จะค่อย ๆ ปล่อยหรือฉีดยาใส่บริเวณด้านข้างระหว่างฟันกับริมฝีปากดังที่ปฏิบัติกับสุนัข แต่การป้อนยาเม็ดให้แมวจะมีข้อแตกต่างจากการป้อนยาเม็ดในสุนัข เมื่อต้องการป้อนยาเม็ดให้แมวต้อปฏิบัติดังนี้
     1.  ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างหนึ่งกดปากแมวให้เปิดกว้างมากที่สุด โดยให้มืออยู่เหนือหัวแมว
     2.  ใช้มืออีกข้างหนึ่งรีบใส่ยาในปากโดยให้เข้าให้ลึกมากที่สุด แต่ต้องระวังฟันเขี้ยวของแมวด้วย
     3.  รีบปิดปากแมว

การเก็บรักษายา
     เมื่อได้รับยามาจากสัตวแพทย์ต้องตรวจสอบว่าได้รับยาถูกต้องหรือไม่ และต้องเก็บรักษาให้ถูกวิธีด้วย ดังนั้น เมื่อได้รับยาจากสัตวแพทย์ควรกระทำดังนี้
     1.  เก็บยาไว้ในสถานที่ที่สะดวก หยิบใช้ง่าย มีอากาศถ่ายเท แต่ไม่ถูกแสงแดดหรือความร้อนมาก และไม่อยู่บริเวณที่สัตว์เลี้ยงสามารถจะเขี่ยเล่นหรือกินได้เอง
     2.  เก็บยาในตู้เย็นในกรณีที่สัตวแพทย์แนะนำให้เก็บในตู้เย็น
     3.  ไม่เก็บยาต่างชนิดไว้ในซองเดียวกันหรือภาชนะบรรจุเดียวกัน
     4.  มีชื่อยาหรือสรรพคุณของยาปิดอยู่
     5.  ก่อนใช้ยาต้องสังเกตว่ายาตกตะกอนหรือเปลี่ยนสีหรือไม่
     6.  ตรวจดูวันหมดอายุของยาหรือวันที่รับยาซึ่งเขียนไว้ที่ซองยา
     7.  ปิดฝาขวดหรือปิดถุงยาให้สนิทหลังจากใช้ยา

หลักการใช้ยาให้ได้ผล
     การที่จะให้ยากับสัตว์เลี้ยงให้มีประสิทธิภาพดีจนสัตว์มีอาการดีขึ้นหรือหายจากอาการป่วย ต้องปฏิบัติดังนี้
     1.  ให้ยาได้เต็มขนาดที่กำหนดไว้
     2.  ให้ยาด้วยวิธีการให้และเวลาที่ให้ยาซ้ำตามที่แนะนำโดยสัตวแพทย์
     3.  ระยะเวลายาวนานในการให้ยาต้องเหมาะสมกับชนิดของโรค นั่นคือ ต้องให้ยาจนหมดตามที่สัตวแพทย์สั่ง และต้องมาตรวจซ้ำตามกำหนดนัดหมาย
     4.  แต่ถ้าสังเกตว่าไม่มีการตอบสนองที่ดีต่อการให้ยาต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์ โดยไม่ต้องรอให้ยาจนหมด เพื่อที่จะได้ตรวจวินิจฉัยหรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดใหม่ต่อไป
     5.  ถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาต้องสอบถามสัตวแพทย์
     6.  ถ้าเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์กับสัตว์ป่วยจากการใช้ยา เช่น อาเจียน น้ำลายไหล หายใจขัด ตัวสั่นและผิวหนังเป็นผื่นแดง ต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาทันที

ความล้มเหลวจากการใช้ยา
     การที่ยาไม่ให้ผลที่ดีในการรักษาอาจจะเนื่องจาก
     1.  รักษาด้วยยาช้าเกินไปจนช่วยชีวิตสัตว์ป่วยไม่ทัน
     2.  การวินิจฉัยไม่ถูกต้อง จึงใช้ยาไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของนายสัตวแพทย์
     3.  ใช้ยาไม่เหมาะสม เช่น ให้ยาขนาดต่ำเกินไป และระยะเวลาที่ให้ยาสั้นเกินไป
     4.  ให้ยาที่เสื่อมคุรภาพ เช่น ตกตะกอน สีผิดปกติ และหมดอายุ เป็นต้น
     5.  เชิ้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยา

การให้วัคซีนในสัตว์เลี้ยง
     การให้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพราะลดโอกาสที่จะเกิดโรคติดต่อ โยที่วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่สัตว์ สารที่อยู่ในวัคซีนที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน เรียกว่า สารก่อภูมิต้านทาน (antigen) ดังนั้นเมื่อนำลูกสุนัขและลูกแมวมาเลี้ยงจึงต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อจัดทำโปรแกรมการให้วัคซีนให้ครบตามที่แนะนำ
     การให้วัคซีนจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายได้ดีหรือไม่ อยู่ที่การตอบสนองของสัตว์เลี้ยงต่อวัคซีนที่ให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ สุขภาพสัตว์ อายุ ชนิดของวัคซีน วิธีการให้วัคซีน และการได้รับเชื้อโรคก่อนการทำวัคซีนหรือไม่ 
     วัคซีนที่ดีจำเป็นต้องปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง และไม่มีฤทธิ์ไม่พึงประสงค์

ชนิดของวัคซีน
     วัคซีนที่ใช้กับสัตว์เลี้ยง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ วัคซีนเชื้อตาย และวัคซีนเชื้อเป็น
     วัคซีนเชื้อตายเป็นวัคซีนที่เกิดขึ้นจากการทำลายเชื้อจุลชีพทั้งจากการใช้ความร้อนและสารเคมี แต่ไม่ทำให้ส่วนที่เป็นสารก่อภูมิต้านทานเสียหาย ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ ได้แก่ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนโรคเลปโตสไปโรซีส
     วัคซีนเชื้อเป็นนั้นเป็นวัคซีนที่เกิดขึ้นจากการทำให้เชื้อจุลชีพลดความรุนแรงลง เมื่อให้เข้าสู่ร่างกายจึงกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันแทนที่จะทำให้เกิดโรค ได้แก่ วัคซีนโรคไข้หัดสุนัข วัคซีนโรคลำไส้อักเสบติดต่อจากพาร์โวไวรัส และวัคซีนโรคระบบทางเดินหายใจในแมว

โรคติดต่อที่ต้องทำวัคซีน
     โรคติดต่อที่เกิดขึ้นกับสุนัขที่จำเป็นต้องทำวัคซีนป้องกันไว้ ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หัดสุนัข โรคตับอักเสบติดต่อ โรคเลปโตสไปโรซีส (โรคฉี่หนู) โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากพาร์โวไรวัส โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากโคโรน่าไวรัส และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ
     ส่วนโรคติดต่อที่เกิดขึ้นกับแมวที่จำเป็นต้องทำวัคซีนป้องกันไว้ ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หัดแมว โรคระบบทางเดินหายใจ โรคช่องปากและลิ้นอักเสบ โรคลิวคีเมีย และโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ

ข้อปฏิบัติในการให้วัคซีน
     การให้วัคซีนแก่สัตว์เลี้ยง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสุนัขและลูกแมว) ควรยกหน้าที่ให้กับสัตวแพทย์ ไม่ควรฉีดวัคซีนเอง เพราะอาจเกิดการผิดพลาดในการฉีด (เช่น ฉีดวัคซีนขณะมีไข้) และเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ เมื่อต้องฉีดวัคซีนต้องปฏิบัติดังนี้
     1.  เริ่มให้วัคซีนกับลูกสุนัขตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ และลูกแมวอายุตั้งแต่ 7 สัปดาห์ และให้ต่อเนื่องและให้ซ้ำตามโปรแกรมที่แนะนำโดยสัตวแพทย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอในการป้องกันโรค จากนั้นให้ปีละครั้ง
     2.  ห้ามให้วัคซีนกับลูกสุนัขและลูกแมวที่เพิ่งได้รับมาใหม่ ต้องให้ปรับตัวได้กับสิ่งแวดล้อมใหม่ก่อน (เช่น อาหาร และที่อยู่อาศัย)
     3.  ให้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยงที่แข็งแรง และไม่ป่วยเป็นไข้
     4.  ให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรงในขณะทำวัคซีน เช่น ถ่ายพยาธิ
     5.  ถ้าเกิดปัญหาการแพ้วัคซีน เช่น มีไข้สูง ตัวสั่น และน้ำลายไหล ต้องนำมาพบสัตวแพทย์ทันที
     6.  งดอาบน้ำ 7 วันหลังทำวัคซีน

ฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการให้วัคซีน

     เมื่อให้วัคซีนแสตว์เลี้ยงแล้วอาจเกิดอาการพิษหรือฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ ต้องรีบแจ้งกับสัตวแพทย์ทันที ฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้เมื่อให้วัคซีน ได้แก่
     1.  เกิดโรคจากเชื้อรุนแรงที่ยังหลงเหลืออยู่
     2.  แพ้วัคซีนแบบเฉียบพลัน เช่น อาเจียน น้ำลายไหล หายใจขัด และกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน
     3.  เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม
     4.  มีไข้ ซึม และไม่กินอาหาร
     5.  มีผลต่อลูกอ่อนทำให้พิการ และแท้งลูกได้
     6.  เป็นแผลหรือบวมบริเวณที่ฉีด





   
ปลาน้ำจืดไทย   ป่าเขา-ทะเลไทย   เที่ยวจัง!...ตังค์จะหมดแล้ว...

 



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ :

http://hospital.vet.ku.ac.th/index_files/Page1525.htm
 

[ +zoom ]

[ +zoom ]

[ +zoom ]

[ +zoom ]

[ +zoom ]

[ +zoom ]

[ +zoom ]

[ +zoom ]

[ +zoom ]

[ +zoom ]
เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับน้องตูบ
- หมาจ๋า [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
- อีฮโยริ ควงแฟนหนุ่มสร้างบ้านให้หมาจรจัด [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
- “Pet Master”ฌาปนกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจรเอาใจคนรักน้องหมา [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
- คนรักหมาบุกรัฐสภา ร้องออก พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
- จะดูยังไงว่าน้องตูบป่วยหรือเปล่า! [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
- สุนัขสามารถป่วยเป็นโรคหัวใจได้ด้วยหรือ? [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
- โรคมะเร็งในน้องตูบ [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
- โรคเบาหวานในน้องตูบ [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
- กระจกตาเสื่อมเนื่องจากไขมัน [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
- พยาธิหนอนหัวใจ [23 กุมภาพันธ์ 2554 15:45 น.]
ดูทั้งหมด

Copyright@2010 by www.nongtoob.com All right reserved.
Engine by MAKEWEBEASY